0-5551-8200-22, 1249

222, Mae Pa, Mae Sot District, Tak 63110

การผ่าตัดช่องท้องด้วยวิธีผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery)

          ในปัจจุบันการผ่าตัดช่องท้องอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดผ่านแผลขนาดใหญ่อีกต่อไป เทคนิกการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถทำได้ผ่านแผลขนาดเล็กมากๆแค่ 1 – 2 ซม.ทำให้เจ็บแผลน้อยลง การฟื้นตัวหลังผ่าตัดดีขึ้น

          การผ่าตัดผ่านกล้องทำได้โดยเจาะรูเล็กเล็กๆที่ผิวหนังหน้าท้องแล้วผ่านกล้องขนาดเล็กเข้าไปทำให้เห็นภายในช่องท้องทั้งหมดทางจอทีวี ภาพที่เห็นจะมีความคมชัดสูงมากกว่าที่เห็นด้วยตาเปล่า เห็นได้แม้แต่เส้นเลือดขนาดเล็กมากๆ ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง หลังจากนั้นก็จะใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านทางรูผนังหน้าท้องที่เจาะไว้เพื่อทำการผ่าตัดอวัยวะต่างๆภายใน ปัจจุบันเทคโนโลยีระดับสูงทำให้สามารถใช้เครื่องมือเล็กๆตัดต่อ เย็บ ห้ามเลือด ในช่องท้องได้อย่างง่ายดาย การผ่าตัดโดยผ่านกล้องไม่จำเป็นต้องมีการดึง หรือขยายแผลให้กว้างออกเหมือนการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องทำให้มีการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะอื่นในท้องลดลง ทำให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้นมาก

การผ่าตัดช่องท้องด้วยวิธีผ่านกล้อง ใช้รักษาโรคอะไร

การผ่าตัดช่องท้องด้วยวิธีผ่านกล้องนั้น สามารถใช้รักษาโรคและปัญหาต่างๆในช่องท้องได้เช่น

        • ถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
        • ไส้ติ่ง ไส้ติ่งอักเสบ ฝีหนองที่ไส้ติ่ง หรือไส้ติ่งแตก
        • ไส้เลื่อน ไส้เลื่อนขาหนีบ ไส้เลื่อนกระบังลม ไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง
        • ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เนื้องอกและก้อนมะเร็งลำไส้ ลำไส้อุดตันจากพังพืดหุ้มรัด
        • ต่อมหมวกไต ก้อนเนื้องอก
        • กระเพาะอาหาร ก้อนเนื้องอก มะเร็งกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน
        • ม้าม ฝีในม้าม ม้ามโตจากโรคเลือด
        • ตับ เนื้องอกในตับ
        • ตับอ่อน เนื้องอก ตับอ่อนอักเสบ
        • ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดความอ้วน

ข้อดีและข้อจำกัด ของการผ่าตัดช่องท้องด้วยวิธีผ่านกล้อง

ข้อดี

  1. แผลเล็กทำให้เจ็บน้อย แผลดูสวยงามกว่า
  2. มีการกระทบกระเทือนอวัยวะอื่นน้อยกว่าวิธีเปิด ทำให้ฟื้นตัวเร็ว กลับไปทำงานได้เร็ว
  3. มีการอักเสบติดเชื้อที่แผลผ่าตัดน้อยมาก โอกาสแผลแยกหลังผ่าตัดไม่มี
  4. เสียเลือดน้อย เนื่องจากภาพมีความคมชัดมากกว่าเห็นด้วยตาเปล่า

ข้อจำกัด

  1. ทำไม่ได้ในบางสภาวะเช่น มีพังพืดรัดในช่องท้องอย่างมากทำให้ใส่กล้องเข้าในช่องท้องไม่ได้
  2. แพทย์ผ่าตัดต้องผ่านการฝึกฝนและเรียนรู้เฉพาะทางยาวนานกว่า
  3. ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีระดับสูงทำให้ค่าใช้จ่ายสูง